วันที่ 20 พฤศจิกายน ของทุกปี ประเทศเกือบทั้งโลกได้ร่วมลงสัตยาบรรณกำหนดให้เป็น "วันสิทธิเด็ก" เหตุผลก็คือต้องการให้ทุกคนในโลกได้ตระหนัก
ถึงความสำคัญของเด็ก ร่วมกันพิทักษ์สิทธิเด็กอย่างเข้มแข็ง ให้อยู่รอดปลอดภัย มีพัฒนาการที่พร้อมเพื่อสืบทอดมรดกวัฒนธรรมให้ยั่งยืนต่อไป
เขาวางหลักการไว้สั้นๆ ง่ายๆ 4 ข้อดังนี้

หนึ่งเด็กเกิดมาต้องมีชีวิตรอด เป็นพันธะสำคัญที่ต้องทำทุกวิถีทางให้เด็กทุกคนที่คลอดออกมาจากท้องแม่ ไม่ตายลงอย่างง่ายดายด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
ในประเด็นนี้ประเทศไทยพ้นภาวะเสี่ยงลงแล้วจะมีเพียงประเทศที่อยู่ห่างไกล ยากจน ด้อยพัฒนาและมีสงครามกลางเมือง ที่องค์กรเด็กทั่วโลกได้ร่วมกัน
ทุ่มเททรัพยากร ความรู้และการช่วยเหลือต่างๆ ไปเพื่อเด็กๆ ในประเทศเหล่านั้น

สองเด็กต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง ด้วยการไม่ให้ถูกทำร้ายทารุณกรรม หรือถูกนำไปแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เช่นถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาส
ถูกนำไปค้าประเวณี ถูกนำไปเป็นทหารเพื่อสู้รบ ถูกนำไปค้ายาเสพติด ถูกนำไปถ่ายภาพลามก สถานการณ์เช่นนี้ในสังคมไทยยังมีมากและถูกองค์การ
สหประชาชาติ จับตามองอยู่ จึงเป็นหน้าที่สำคัญที่รัฐจะต้องระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนของสังคมเข้าปกป้องคุ้มครองไม่ให้ต้องตกอยู่
ในสภาวะเช่นนั้นส่วนเด็ก ที่ทุกข์ทรมานอยู่ต้องช่วยกัน ให้พ้นออกมาจากสถานการณ์นั้นโดยเร็ว

สาม เด็กต้องได้รับการพัฒนาโดยรอบด้าน ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา ดังจะเห็นได้ว่ามีองค์กรระดับโลก ระดับนานาชาติ และระดับประเทศ
เกิดขึ้นมากมาย เพื่อดูแลให้การพัฒนา จัดการศึกษาและจัดระบบสวัสดิการต่างๆ เพื่อเด็กอย่างมากมาย สำหรับประเทศไทยจะต้องมุ่งเน้นไปยังกลุ่มเป้าหมาย
เด็กที่ด้อยโอกาส พิการและไร้สัญชาติ ให้สามารถเข้าถึงการพัฒนาอย่างทั่วถึง ด้วยการทำงานเชิงรุกที่รวดเร็วไปยังพื้นที่ต่างๆ ที่เด็กเหล่านี้อาศัยอยู่

สี่ เด็กต้องมีส่วนร่วมในสังคม นี่คือมิติใหม่ของโลกที่ตระหนักชัดเจนถึงความรู้ ความสามารถและความต้องการแสดงออกของเด็กว่ามีอยู่อย่างมากมาย
เวทีของเด็กในรูปแบบต่างๆ จึงถูกเรียกร้องให้มีขึ้นทั้งในระดับสากล ระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ยิ่งเด็กที่อยู่ในภาวะเสี่ยงหรือได้รับผลกระทบด้วยแล้ว เวทีการมีส่วนร่วมของเด็กเหล่านี้ถือเป็นหน้าที่สำคัญที่ผู้ใหญ่ทั้งหลายต้องจัดให้มีขึ้นเพื่อฟังเสียงสะท้อนจากพวกเขาโดยตรง

หลักในข้อที่สี่นี่เอง เป็นที่มาของการเปิดเวทีให้แก่เด็กและเยาวชน ที่ประเทศต่างๆ ในโลกได้จัดขึ้นในช่วงวันเวลาดังกล่าว สำหรับประเทศไทยได้มีการจัดงาน "เวทีสิทธิเด็ก"
ขึ้นต่อเนื่องกันมานานหลายปี บางครั้งจัดขึ้นที่ห้องประชุมใหญ่รัฐสภา บางครั้งจัดในทำเนียบรัฐบาล บางครั้งจัดที่ห้องประชุมใหญ่ของส่วนราชการ ตามวาระความเหมาะสม
และโอกาสอำนวย โดยลักษณะของงานนั้นจะเน้นหนักด้วยการเปิดโอกาสให้เด็กๆ จากทุกกลุ่มเป้าหมายและจากทุกภูมิภาคได้เข้ามาร่วมกันสะท้อนปัญหาและทรรศนะของพวกเขาให้ผู้ใหญ่
ทุกระดับฟัง หลายครั้งจะได้รับเกียรติจากบุคคลระดับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเข้ารับฟังความในใจและความคิดของเด็ก

แหล่งข้อมูล: มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก